สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น
ทำไม คนไทยค้าขายสู้คนจีนไม่ได้ ถ้า “ขยัน-ประหยัด-อดทน” เท่ากัน.?
“คนจีนค้าขายเก่ง” แถมยังขยันและอดทน เหมือนเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้คนทั่วไปมองว่าชาวจีนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเมื่อเทียบกับคนไทย แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัย นอกเหนือจากบุคลิกหรือลักษณะนิสัยส่วนตัวแล้ว ยังมีข้อสังเกตจากปัจจัยอื่นที่น่าสนใจซึ่งทำให้ชาวไทยค้าขายไม่เก่งเท่าชาวจีน
เหตุผลที่คนสนใจอย่างลักษณะนิสัยเรื่อง “ความขยัน”, “ประหยัด” และ “อดทน” เมื่อดูจากงานวิจัยของสุวิทย์ ธีรศาสวัต เรื่อง “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่รัชสมัยพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2310-2394)” จะพบว่า ผู้วิจัยนำเสนอเหตุผลเบื้องหลังที่ลึกไปกว่าลักษณะนิสัยของคนแต่ละเชื้อชาติ ไปสู่เรื่องภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
สุวิทย์ เขียนบทความสรุปปัจจัยที่เชื่อว่ามีแนวโน้มเป็นต้นตอที่ทำให้คนจีนค้าขายได้โดดเด่นกว่าคนไทยโดยแยกแยะเหตุผลหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ คนไทยถูกขูดรีดด้วยระบบไพร่ และ คนจีนได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้ามากกว่า
สภาพแวดล้อมสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ผู้วิจัยฉายภาพเบื้องหลังบริบทแวดล้อมที่นำมาสู่สภาพความเป็นไป 2 ประการข้างต้นว่า ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-3 พ.ศ. 2325-2394) เป็นช่วงที่สังคมแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน เรียงลำดับชนชั้นสูงไปถึงต่ำแบบคร่าวๆ ได้ 4 ลำดับ คือ ชนชั้นเจ้า, ชนชั้นขุนนาง (รับราชการกับกษัตริย์ ขุนนางมีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป ข้าราชการมีศักดินา 300-400 ไร่), ชนชั้นไพร่ (ราษฎรสามัญทั่วไป) และ ชนชั้นทาส หรือคนที่ถือเป็น “สมบัติ” ของชนชั้นอื่น
ชนชั้นของไทยไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิดเหมือนระบบวรรณะของอินเดีย ของไทยสามารถเลื่อนชั้นได้ แต่ผู้วิจัยพบว่า การเลื่อนชั้นมีให้เห็นน้อยมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทาสจะเป็นอิสระได้ต่อเมื่อมีสงครามแล้วอาสาไปรบ เมื่อรอดตายก็เป็นอิสระ หรือหาเงินไถ่ตัวได้
ทาสว่ายากแล้ว แต่สำหรับไพร่ ขุนนาง และข้าราชการ เลื่อนชั้นยากกว่าอีก สำหรับช่วงต้นรัตนโกสินทร์พบหลักฐานเกิดขึ้นครั้งเดียวคือการรัฐประหารล้มอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พวกที่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นมากกว่าพวกอื่นคือ ไพร่ได้เป็นขุนนางและข้าราชการ ไพร่ในช่วง พ.ศ. 2374-2392 มี 675 คน จาก 4,355 คน ได้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการและขุนนาง
ขณะที่ชนชั้นปกครอง (เจ้า, ขุนนาง และข้าราชการ) รวมกันแล้วมีร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งหมด ได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ส่วนไพร่และทาส รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.33 ถูกชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่มีโอกาสทำการค้า
กระบวนการขูดรีดที่ว่า ผู้วิจัยอธิบายว่า ทำผ่านระบบเกณฑ์แรงงาน และระบบภาษี
@@@@@@@
ระบบเกณฑ์แรงงาน
ระบบเกณฑ์แรงงานสำหรับกรณีไพร่ ถูกขูดรีดแตกต่างกันตามประเภทไพร่ ไพร่หลวงมีมูลนายเป็นเจ้ากรมนายกองต่างๆ ทำงานให้ “หลวง” มากที่สุด ก่อนพ.ศ. 2328 ต้องทำงานให้หลวงปีละ 6 เดือน ตั้งแต่โตเป็นหนุ่ม ความสูงวัดจากพื้นถึงไหล่ 2 ศอก 1 คืบขึ้นไป จนอายุ 70 ปีจึงจะปลดชรา
ส่วนไพร่สม สังกัดมูลนายมีลักษณะเป็นคนใช้ส่วนตัวของเจ้าและขุนนางมากกว่าไพร่หลวง แต่ไม่ต้องทำงานหนักเท่าทาส การเกณฑ์แรงงานเหล่านี้ทำให้ไพร่และทาสได้รับความลำบาก เพราะรัฐบาลให้เฉพาะที่พักอาศัย ส่วนอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยา หรือแม้แต่อาวุธเมื่อกรณีอยู่เวรหรือไปรบในสงคราม ไพร่และทาสต้องหามาเอง ไพร่และทาสไม่ได้รับเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด นอกจากแค่ใช้แรงงานให้หลวง
ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นพบว่า ไพร่หลวงร้อยละ 40 ทำงานให้หลวงไปจนตาย ไพร่หลวงที่ปลดชรามีเพียงร้อยละ 5.03 หนีร้อยละ 12.7 พิการร้อยละ 5.46 บวชร้อยละ 8.17 เสียจริต 0.6 นอกจากนี้ยังพบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1-2 ไพร่หลวงหนีจากกรมกองไปเข้าป่าจำนวนมากเพราะทนการขูดรีดแรงงานและภาษีไม่ไหว
ระบบเกณฑ์แรงงานทำให้ไพร่มีเวลาทำการผลิตน้อยมาก เนื่องจากต้องใช้แรงงานและยังต้องเดินทางไป-กลับ ผู้วิจัยนับแล้วว่าก่อนปี 2328 ต้องเดินทางปีละ 6 ครั้ง ช่วง 2328-2352 เดินทางปีละ 4 ครั้ง และหลัง 2352 เดินทางปีละ 3 ครั้ง
@@@@@@@
ระบบภาษี
สำหรับระบบภาษีก็ถูกรัฐบาลเก็บยิบยับ ไพร่ส่วนใหญ่มักทำนาจะเสียอากรค่านาตามประเภทและพื้นที่นา (ขุนนางหรือเจ้า รัฐบาลไม่เก็บอากรนาคู่โคหรือนาฟางลอย กระทั่งเก็บครั้งแรกใน พ.ศ.2367 หรือต้นรัชกาลที่ 3) นอกจากเสียแล้ว ไพร่ยังต้องเดินทางไปเสียอากรค่านาเป็นข้าวให้ถึงฉางหลวงในกรุงเทพฯ การจ้างส่งมีค่าใช้จ่ายสูง (รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2354 รัฐบาลจึงผ่อนผันให้เสียเป็นข้าว หรือเงินก็ได้และไม่ต้องส่งที่ฉางหลวงแค่ที่เดียว)
ส่วนไพร่ที่ทำไร่ก็ต้องเสียภาษีที่เรียกว่า “อากรสมพัตสร” เก็บตามชนิดพืชไร่ จำนวนครั้งที่ปลูก และจำนวนพื้นที่ปลูก ไพร่ที่ทำสวนต้องเสีย “อากรสวนใหญ่” ซึ่งแพงกว่าอากรค่านา และอากรสมพัตสร
ไพร่ที่หาปลาหรือจับสัตว์น้ำก็ต้องเสียอากรค่าน้ำ รัฐบาลจะเก็บปีละครั้ง เก็บในอัตราตามชนิดเครื่องมือที่มีอยู่ 76 ชนิด แม้สมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศยกเลิก แต่กลับมาประกาศใช้ใหม่ในรัชกาลที่ 4
แม้แต่ภรรยาไพร่ที่นำผลิตผลไปขายในตลาดก็ต้องเสียอากรยิบย่อย การหาบเร่ กระเดียดเร่ เสียเป็นรายวัน วันละ 10-15 เบี้ย หรือประมาณ .16-.23 สตางค์ แผงลอยเก็บวันละ 20 เบี้ย หรือประมาณ .31 สตางค์
อากรที่เสียยังมีประเภทอื่น อาทิ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรยาสูบ ซึ่งทำรายได้ให้รัฐบาลสูงมาก ผู้วิจัยแสดงความคิดเห็นว่า การเก็บภาษียิบย่อยขั้นรายวัน หรือรายเดือน ทำให้รัฐบาลเสียแรงงานและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษี ต่อมาจึงมีระบบให้เอกชนประมูลภาษีอากรไปจัดเก็บหรือผูกขาดการผลิต และขายกันเอง กลายเป็น “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” (ซึ่งภายหลังก็เป็นคนจีนเข้ามาทำเป็นส่วนใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 3 มีถึงร้อยละ 68.06 ที่เจ้าภาษีนายอากรเป็นคนจีน) ทำรายได้ให้รัฐบาลจำนวนมาก เมื่อเจ้าภาษีนายอากรเสนอให้รัฐบาลเก็บภาษีใหม่ๆ ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดการขูดรีดไพร่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผลผลิตส่วนเกินที่จะเก็บไว้เป็นทุนการค้ายิ่งเหลือน้อย
ระบบแบบนี้อยู่ได้เนื่องจากทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ ขณะที่จำนวนประชากรสมัยนั้นยังไม่มาก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2338) มี 4.4 ล้านคน แม้จะลำบากแต่ไพร่สามารถอยู่ได้โดยไม่ขัดสนมากนักโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่หาได้จากป่าและหนองน้ำ จะเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลก็จะประกาศยกเลิกเก็บอากรค่านาในปีนี้
เหล่านี้คือข้อมูลในด้านข้อจำกัดของคนไทย
@@@@@@@
โอกาสของคนจีน
เมื่อหันมาดูฝั่งชาวจีน ผู้วิจัยพบว่า คนจีนมีอภิสิทธิ์และโอกาสในทางการค้าดีกว่าคนไทยที่เป็นไพร่ โดยสรุปคือ คนจีนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นไพร่ มีเวลาทำการค้าได้ตลอด และคนจีนเสียภาษีน้อยกว่าไพร่
คนจีนเสียภาษีผูกปี้ 3 ปี 6 สลึง เสียปีละ 2 สลึงเท่านั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้นรัชกาลที่ 3 ปรับขึ้นเป็นคนละ 4-8 บาท เก็บ 1 ครั้งในรอบ 3 ปี นั่นหมายความว่าคนจีนมีโอกาสเก็บผลผลิตส่วนเกิน เมื่อผนวกเข้ากับนิสัยอันประหยัดของคนจีนยิ่งมีโอกาสสะสมทุนได้มากเพิ่มขึ้น
คนจีนที่ไม่ต้องเข้าสังกัดมูลนายกรมกองยิ่งทำให้มีอิสระในการเดินทาง คนจีนเริ่มเข้ามาเป็นพ่อค้าในเมือง ระหว่างเมือง และถึงระดับระหว่างประเทศ
สมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2365) ตลาดสินค้าไทยร้อยละ 88.59 อยู่ในประเทศจีน ในบรรดาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็เป็นสินค้าจีนมากที่สุด สะท้อนการผูกขาด ขณะที่การค้าระดับระหว่างเมืองก็เป็นคนจีนที่ทำการค้า เพราะไพร่ติดภาระ “เข้าเดือน” หรือทำงานให้หลวง
คนไทยส่วนมากที่มีโอกาสระดับในเมือง แต่ก็ต้องเป็นสตรีที่พอมีเวลาว่างนำของขายในตลาดมากกว่าไพร่ชาย
ภาพพ่อค้าชาวจีน (ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย)
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากร เจ้าภาษีนายอากร (ที่ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนดังที่กล่าวข้างต้น) ก็หันไปทำการค้าอย่างอื่น บางคนทำการค้าอยู่แล้วควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าภาษีนายอากรก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
อัตราการเพิ่มจำนวนของคนจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในสมัยปลายรัชกาลที่ 2 มีคนจีน 440,000 คน เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ 3 มีคนจีน 1,100,000 คน และยิ่งคนจีนนิยมให้ลูกหลานค้าขาย โดยเมินการรับราชการแบบคนไทย ประกอบกับความขยัน ประหยัด อดทน การถ่ายทอดความรู้ทางการค้ามาถึงลูกหลาน โอกาสขาดทุนมีไม่มากเลย
แม้ว่าระบบไพร่จะถูกยกเลิกในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผู้วิจัยมองว่า คนจีนก็ยังค้าขายเก่งกว่าไทย และค้าขายมากกว่าไทย จากที่รากฐานฝังลึกมากว่า 100 ปีจากบริบทโอกาสการค้าข้างต้น
ในยุคชาตินิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีกระแสเชิงลบต่อคนจีนด้วยซ้ำ รัฐบาลออกกฎหมายสงวนอาชีพให้คนไทยโดยเฉพาะ (แม้เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีนัยยะอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ) ความรู้สึกต่อต้านคนจีนเริ่มคลายลงหลังผ่านยุคชาตินิยมไป
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบพื้นฐานประกอบด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ประกอบกับอุปนิสัยขยัน ประหยัด อดทน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าสภาพเหล่านี้ทำให้คนจีนรักษาความเป็นหนึ่งใน “ภาพจำของวงการค้า” ในไทย
อ้างอิง : สุวิทย์ ธีรศาสวัต. “ทำไม.? คนไทยจึงค้าขายสู้คนจีนไม่ได้”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2, ฉบับเดือนธันวาคม 2526.
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_23159