พระประธานวัดสุทัศน์ (ตอนจบ)

น้าชาติ ทำไมวัดสุทัศน์จึงมีพระประธานถึง 3 องค์ พาญาติจากเมืองนอกไปทัวร์ อธิบายไม่ถูกค่ะ ขอบคุณค่ะ
จีน่า

ตอบ จีน่า
ฉบับวานนี้ (13 พ.ค.) ตอบประวัติพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วันนี้มีตอบต่อถึงเรื่องราวพระประธานอีก 2 องค์ของวัดสุทัศนฯพระพุทธตรีโลกเชษฐ์
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย วัสดุโลหะ หน้าตักกว้าง 3 วา 17 นิ้ว สูง 4 วา 18 นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งก่อสร้างในปี พ.ศ.2377 พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองงาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เป็นพระอุโบสถที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3
เมื่อสถาปนาพระอารามแล้ว โปรดให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ สร้างพระพุทธประธาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในบรรดาที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โปรดอัญเชิญพระศรีศาสดาซึ่งอยู่บนฐานเดิมไปยังวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปหล่อใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน
ครั้นแผ่นดินต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพ.ศ.2407 โปรดให้สร้างพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 องค์ สร้างด้วยปูนปั้นลงสี นั่งพนมมือฟังพระบรมพุทโธวาทเบื้องพระพักตร์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระพุทธเสรฏฐมุนี
พระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย วัสดุทองเหลือง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ
ครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างชาตินำฝิ่นเข้ามาเผยแพร่ในราชอาณาจักรเป็นสินค้าเข้า ให้รายได้สูง แต่ฝิ่นเป็นสิ่งเสพติด มอมเมาพลเมือง เสพแล้วทำให้ร่างกายเปลี้ย สติปัญญาเสื่อมถอย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อพลเมืองของชาติติดสิ่งเสพติดย่อมเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของบ้านเมือง การที่กำลังของชาติคือประชาชนอ่อนแอ หมดความรับผิดชอบในหน้าที่ ดูเป็นที่น่าเวทนา
จึงมีพระบรมราชโองการให้ปราบอย่างเด็ดขาด ในปีพ.ศ.2382 มีการปราบฝิ่นครั้งใหญ่ตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนภาคใต้ คราวที่ใหญ่ที่สุดนี้ปราบตั้งแต่ปราณบุรีจนถึงนครศรีธรรมราชฟากหนึ่ง ตะกั่วป่าถึงถลางอีกฟากหนึ่ง ได้ฝิ่นดิบเข้ามา 3,700 หาบเศษ ฝิ่นสุก 2 หาบ รวมแล้วเกือบ 2.6 แสนกิโลกรัม
ตัวฝิ่นนั้นโปรดให้เผาที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (สุทไธศวรรย์)
เหลือแต่กลักฝิ่นซึ่งทำด้วยทองเหลืองอยู่จำนวนมาก โปรดให้หล่อเป็นพระพุทธรูปประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ อันเป็นศาลาโรงธรรมที่จะสั่งสอนเตือนใจพลเมือง สถานที่ตั้งอยู่ใจกลางพระนคร เป็นศูนย์กลางที่ผู้คนควรรับรู้ได้
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนาม พระพุทธเสรฏฐมุนี
ส่วนคนทั่วไปเรียกว่า "หลวงพ่อกลักฝิ่น"
เชื่อกันว่า ผู้ที่ต้องการละเลิกเสพสิ่งเสพติด ให้มากราบขอกำลังใจและความเป็นมงคลจากพระพุทธเสรฏฐมุนีขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakUwTURVMU5nPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE15MHdOUzB4TkE9PQ==
กลัก
[กฺลัก] น. สิ่งที่ทําเป็นรูปคล้ายกระบอกสําหรับบรรจุของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือของขนาดเล็ก มีฝาสวมปาก เช่น กลักพริก กลักเกลือ, ซองยาสูบทําด้วยเมล็ดตาล มีฝาสวมปาก, สิ่งที่ทําเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก มีลิ้นชักเข้าออกได้ สําหรับบรรจุไม้ขีดไฟ เรียกว่า กลักไม้ขีดไฟ, กล่องไม้ขีดไฟ ก็เรียก._______________________________________
พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒