ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จิตรกรรมฝาผนัง"วัดสุวรรณาราม" เพชรน้ำงามจิตรกรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์  (อ่าน 21977 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29043
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


รักษ์วัดรักษ์ไทย : จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม เพชรน้ำงามจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์

พระอารามหลวงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ในย่านฝั่งธนบุรี คือ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
       
       วัดสุวรรณาราม เดิมชื่อว่า "วัดทอง" เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา     
       ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่แทบทั้งหมด โปรดให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว มีเก๋งด้านหน้า 2 เก๋ง พร้อมทั้งเสนาสนะต่างๆ
       
       นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้สร้างฌาปนสถานสำหรับปลงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ไว้ที่พระอารามแห่งนี้ด้วย และได้ใช้เป็นพระเมรุหลวง มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4

        :25: :25: :25:

       ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม และขยายพื้นที่วัดให้กว้างขึ้น โปรดให้สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นหมู่หนึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน จำนวน 6 หลัง หอระฆัง หอพระไตรปิฎก ศาลาการเปรียญ รวมทั้งโปรดให้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้วย
       
       ครั้นทรงปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ โปรดให้จัดงานสมโภชพระอารามใน พ.ศ. 2374 และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุวรรณทาราม” ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เรียกนามวัดให้ถูกต้องว่า “สุวรรณาราม”

       



       • จิตรกรรมฝาผนัง “เพชรน้ำงาม”
       
       จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามนี้ นับเป็นเพชรน้ำงามของจิตรกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีภาพเขียนที่เป็นฝีมือของจิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ หลวงวิจิตรเจษฎา(ครูทองอยู่) และหลวงเสนีบริรักษ์(ครูคงแป๊ะ)
       
       สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม) ได้ทรงกล่าวถึงครูช่างเขียน คือ ครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ ไว้ในหนังสือกราบทูลสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ(พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) เมื่อ พ.ศ. 2458 ว่า       
       “ครูทองอยู่เขียนเนมิราช ส่วนครูคงแป๊ะเขียนมโหสถ ฝีมือเป็นเอกทัดเทียมกันในสมัยรัชกาลที่ 3” 
     
       ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถนี้ เป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญๆ และภาพทศชาติ ได้แก่ ผนังด้านหน้าพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และตอนประสูติ เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพมารผจญ ส่วนฝาผนังด้านซ้ายพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติ เรียงตามลำดับคือ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก นารทชาดก และวิธุรชาดก เหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม

       

มโหสถชาดก

เนมิราชชาดก



       ผนังด้านหลังพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนเปิดโลก พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ และทรงเปิดโลกสวรรค์ มนุษย์ และนรก ส่วนผนังด้านขวาพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกต่อไปจนครบ 13 กัณฑ์ เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมเช่นเดียวกับผนังด้านซ้าย
       
      จิตรกรที่เขียนภาพในพระอุโบสถ นอกจากครูทองอยู่และครูคงแป๊ะแล้ว สันนิษฐานว่ามีจิตรกรฝีมือดีในสมัยนั้นอีกหลายท่านร่วมเขียน เช่น ”นายมี” หรือ “ตามีบ้านบุ”
       
       รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นครูอีกหลายภาพ ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ใด เช่น ภาพเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทานกัณฑ์ ที่อยู่ด้านหลังพระประธาน ภาพกระบวนทัพไปเชิญเสด็จพระเวสสันดรในกัณฑ์มหาราช ภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ที่ผนังด้านหน้า เป็นต้น





       • บูรณะใหญ่..รักษาไว้เป็นมรดกชาติ
       
       หลังการสมโภชพระอารามเมื่อ พ.ศ. 2374 ก็มิได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกเลย ยกเว้นในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(พุฒ สุวฑฺฒโน) ซึ่งครองพระอาราม ได้ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์องค์ใหญ่ กุฏิ รวมทั้งได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย     
       แต่จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่ผ่านกาลเวลามาราว 170 ปี และชำรุดทรุดโทรมลงเป็นลำดับนั้น ยังไม่เคยได้รับการบูรณะใดๆ
       
       ดังนั้น ใน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้เริ่มให้การสนับสนุนงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ เริ่มจากพระอุโบสถ การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ พระวิหาร การก่อสร้างหมู่กุฏิทรงไทยทดแทนของเดิมที่ถูกไฟไหม้ รวมทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิคณะ 1 ซึ่งเป็นกุฏิที่จำพรรษาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์     
       เพื่อให้วัดสุวรรณารามได้คืนสู่ความเป็นพระอารามหลวงที่สง่างามอีกวาระหนึ่ง

       



       • พระศาสดา
       
       พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สูง 8ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว หน้าตักกว้าง 6 ศอก 1 คืบ ไม่ปรากฏพระนามแต่แรก ชาวบ้านเรียกขานว่า “พระศาสดา” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏเรื่องราว แต่พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปเห็นว่า เป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีสากยมุนี(วัดสุทัศน์) จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเชิญมาแต่สุโขทัย เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1
       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000079845
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 05, 2013, 09:32:00 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ