http://www.rakdham.com
รักษ์ธรรมพระอาจารย์ มีนามเดิมว่า หม่องขิ่น ถือกำเนิดในสกุล ตวยเต้าจี้ ซึ่งเป็นสกุลขุนนางชั้นสูงของพม่า พระอาจารย์เกิดเมื่อ ๑ ๗ฯ ๘ ปีกุน พุทธศักราช ๒๔๕๔ ที่ตำบลจวนละเหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ ประเทศพม่า โยมบิดามีนามเดิมว่า อุโพอ้าน โยมมารดามีนามว่า ดอร์เปียว มีพี่น้อง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง
ชีวิตในช่วงปฐมวัย พระอาจารย์ได้รับการศึกษาขั้นต้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ อายุได้ ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่หลักสูตร นะโม พุทธายะ สิทธัง ไปจนถึงทศมหาชาดก ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานการศึกษาที่กุลบุตรของพม่าจะต้องเรียนในสมัยนั้น
พระอาจารย์ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ พระอาจารย์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุได้ ๑๕ ปี โดยมีพระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดโชติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ และในเวลาต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า อาสโภ ณ พัทธสีมาวัดจวนละ เหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ โดยมี
- พระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์
- พระภัททันตะ อูเกลาสมหาเถระ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระภัททันตะ อูปัญญามหาเถระ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภาคคันถะธุระ พระอาจารย์ได้รับการศึกษา ดังนี้คือ
๑. ระเบียบวินัย ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ
๒. ไวยากรณ์บาลีมหากัจจายน์
๓. อภิธรรมมัตถสังคหอรรถกถา
๔. ศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงที่มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย
วุฒิธัมมาจริยะ เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี ๗ พรรษา พระอาจารย์สอบได้วุฒิชั้น “ธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแห่ง การศึกษาคณะสงฆ์พม่า
ตำแหน่งในมหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย ได้รับความเห็นชอบ มีมติเอกฉันท์จากบรรดาพระมหาเถระปาติโมกข์แห่งมหาวิทยาลัยให้ ดำรงตำแหน่ง “คณะวาจกสะยาดอร์” คือ เป็นพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ประจำมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ให้การศึกษาพระไตรปิฎก บาลี อรรถกถา ฎีกา และพระคัมภีร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้นมา
ภาควิปัสสนาธุระ
๑. เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดสวนลน จังหวัดเมียนฉั่น โดยมีท่านพระอาจารย์ ภัททันตะ กวิมหาเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ เป็นผู้บอกกรรมฐานให้
๒. เดินทางไปเข้าวิปัสสนากรรมฐานต่อ ณ วัดมหาสี ตำบลเชตโข่น จังหวัดสวยะโบ่ ซึ่งเป็นสำนักของมหาสี สะยาดอร์
ตำแหน่งพระวิปัสสนาจารย์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ พระอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดวิชา “วิปัสสนาจารย์” จาก พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต (มหาสี สะยาด่อร์) ผู้เป็นพระปรมาจารย์ต้นตำรับ “พองหนอ ยุบหนอ” และได้รับมอบหมายให้เป็นวิปัสสนาจารย์ประจำสำนักมหาสีสาสนยิสสา แห่งนครย่างกุ้ง
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มีความประสงค์จะวางรากฐานวิปัสสนาธุระไว้ ณ ประเทศไทยจึงได้แสดงความจำนงไปยังสภาพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย สภาการพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่าจึงมอบหมายให้ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามความต้องการของสมเด็จพระ พุฒาจารย์ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิตพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะเป็นผู้รับภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย รับหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ พระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระ ธัมมจาริยะได้รับอาราธนาจากนายธรรมนูญ สิงคารวณิช และพระภิกษุเดือน เนื่องจำนงค์ ให้มาเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานประจำสำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม
ผลงานรจนาหนังสือธรรมะ แม้ว่าพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ จะมีหน้าที่ในการบอกกรรมฐานแก่ศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว แต่ก็ยังอุตสาหะรจนาหนังสือธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นภาษาไทยไว้ดังต่อไปนี้
๑. แว่นธรรมปฏิบัติ
๒. แนวปฏิบัติวิปัสสนา
๓. หลักการเจริญวิปัสสนา
๔. ปฏิจจสมุปบาทจักกเทศนา
๕. วิปัสสนาทีปนีฎีกา