ก้มหน้าฉัน แหงนหน้าฉัน เป็นฉันใด
พระไตรปิฎฏเล่ม๑๗
พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๑๐. สูจิมุขีสูตร ว่าด้วยความแตกต่างการเลี้ยงชีวิตของสมณพราหมณ์ [๕๑๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน
ใกล้พระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในพระนครราชคฤห์แล้ว
อาศัยเชิงฝาแห่งหนึ่งฉันบิณฑบาตนั้น.
ครั้งนั้น นางปริพาชิกาชื่อสูจิมุขี เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่
อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ?
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรน้องหญิง เรามิได้ก้มหน้าฉัน. สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือสมณะ?
สา. เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอกน้องหญิง.
สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือสมณะ?
สา. เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอกน้องหญิง.
สู. ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศน้อยฉันหรือสมณะ?
สา. เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง.
สู. ดิฉันถามว่า ดูกรสมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ
ท่านก็ตอบว่า เรามิได้ก้มหน้าฉันหรอกน้องหญิง
ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือสมณะ
ท่านก็ตอบว่า เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอกน้องหญิง
ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือสมณะ
ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอกน้องหญิง
ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดู ทิศน้อยฉันหรือสมณะ
ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง
ก็บัดนี้ ท่านฉันอย่างไรเล่าสมณะ? สา. ดูกรน้องหญิง ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ
เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ก้มหน้าฉัน.
ดูกรน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ
เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตรสมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า แหงนหน้าฉัน. ดูกรน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ
เหตุประกอบการรับส่งข่าวสาส์น สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศใหญ่ฉัน.
ดูกรน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ
เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน. ดูกรน้องหญิง ส่วนเรานั้นมิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาตรวจพื้นที่
มิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูดาวนักษัตร
มิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุประกอบการรับส่งข่าวสาส์น
มิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ (แต่)เราแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม ครั้นแล้วจึงฉัน.
ครั้งนั้น นางสูจิมุขีปริพาชิกาเข้าไปในนครราชคฤห์ จากถนนหนึ่งไปอีกถนนหนึ่ง จาก
ตรอกหนึ่งไปอีกตรอกหนึ่งแล้ว ประกาศอย่างนี้ว่า
ท่านสมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันประกอบด้วยธรรม
สมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้.
ขอเชิญท่านทั้งหลายถวายบิณฑบาตแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ สารีปุตตสังยุต.
อรรถกถาสูจิมุขีสูตร พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สูจิมุขี คือ นางปริพาชิกาผู้มีชื่ออย่างนี้
บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า นางปริพาชิกานั้น เห็นพระเถระมีรูปสวย น่าดู มีผิวพรรณงดงามดังทองคำ ชวนให้เกิดความเลื่อมใสตลอดเวลา
จึงเข้าไปหาด้วยคิดว่า เราจักทำการร่าเริงกับพระเถระนี้
คราทีนั้นเมื่อพระเถระปฏิเสธคำพูดนั้น นางจึงสำคัญอยู่ว่า บัดนี้ เราจักโต้วาทะกับพระเถระนั้น จึงกล่าวว่า สมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านก็แหงนหน้าฉัน (แหงนหน้าหากิน) ละซี ? บทว่า ทิสามุโข ได้แก่ หันหน้าสู่ทิศทั้ง ๔. อธิบายว่า
มองดูทั้ง ๔ ทิศ (ทิศใดทิศหนึ่ง).
บทว่า วิทิสามุโข ได้แก่ มองดูทิศเฉียงทั้ง ๔ ทิศ.
บทว่า วตฺถุวิชฺชาติรจฺฉานวิชฺชาย ได้แก่ ดิรัจฉานวิชา
กล่าวคือ วิชาตรวจดูพื้นที่. อุบายเครื่องรู้ถึงเหตุที่ทำให้พื้นที่ทั้งหลาย
มีพื้นที่ปลูก น้ำเต้า ฟักเขียว และมัน เป็นต้น สมบูรณ์พูนผลชื่อว่า
วิชาดูพื้นที่. บทว่า มิจฺฉาชีเวน ชีวิกํ กปฺเปนฺติ ความว่า เลี้ยงชีวิตด้วย
มิจฉาชีพ กล่าวคือดิรัจฉานวิชา ได้แก่ วิชาตรวจดูพื้นที่นั้นนั่นแล.
อธิบายว่า บริโภคปัจจัยที่เหล่าชนผู้เลื่อมใส เพราะความสมบูรณ์
พูนผลแห่งพื้นที่เหล่านั้นอยู่.
บทว่า อโธมุขา ความว่า ชื่อว่า ก้มหน้าบริโภค (ก้มหน้าหากิน)
ด้วยอำนาจตรวจดูพื้นที่แล้วบริโภค.
อีกอย่างหนึ่ง ในบทเหล่านี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า นกฺขตฺตวิชา ได้แก่ วิชาที่เป็นเหตุให้รู้อย่างนี้ว่า
วันนี้ ฤกษ์นี้ ควรไปด้วยฤกษ์นี้ ไม่ควรไปด้วยฤกษ์นี้ ควรทำสิ่งนี้
สิ่งนี้ ด้วยฤกษ์นี้. บทว่า ทูเตยฺยํ ได้แก่ งานของทูต คือ การรับเอาสาส์นของ
คนเหล่านั้น ๆ ไปในที่นั้น ๆ.
บทว่า ปหิณคมนํ ได้แก่ การเข้าไปยังตระกูลหนึ่ง ด้วย
สาส์นของอีกตระกูลหนึ่ง ในหมู่บ้านเดียวกันนั่นแล.
บทว่า องฺควิชฺชา ได้แก่ วิชชาเป็นเหตุให้รู้องคสมบัติ
(ลักษณะอวัยวะที่ดี) ตามอิตถีลักษณะ และปุริสลักษณะ แล้วทราบ
อย่างนี้ว่า บุคคลจะได้สิ่งนี้ ด้วยองคสมบัติอย่างนั้น. บทว่า วิทิสามุขา ความว่า เพราะว่า วิชาตรวจดูอวัยวะ
ชื่อว่าเป็นไปในทิศเฉียงทั้งหลาย เพราะปรารภส่วนของสรีระนั้น ๆ
เป็นไป (การตรวจดูลักษณะต่าง ๆ ต้องหันหน้าไปทั่วทุกทิศ)
เพราะเหตุนั้น บุคคลทั้งหลายผู้หากินเลี้ยงชีวิตด้วยวิชานั้น จึงชื่อว่า
หันหน้าสู่ทิศเฉียงทั้งหลาย บริโภค (ส่ายหน้าหากิน).
บทว่า เอวมาโรเจสิ ความว่า นางปริพาชิกา เมื่อกล่าวคำ
เป็นต้นว่า ธมฺมิกํ สมณ ชื่อว่า กล่าว (สรรเสริญ) คุณของพระศาสนา
ว่า เป็นนิยยานิกธรรม.
ก็มนุษย์ทั้งหลาย ได้ฟังกถานั้นแล้ว พากันเลื่อมใสพระศาสนา
ประมาณ ๕๐๐ ตระกูล แล.จบ อรรถกถาสูจิมุขีสูตรที่ ๑๐
จบ อรรถกถาสารีปุตตสังยุต
ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
ขอสรุปความหมายตามพระสูตรและอรรถกถา
๑. ก้มหน้าฉัน คือ การเลี้ยงชีพด้วยวิชาตรวจพื้นที่ หมายถึง การดูพื้นที่นั้นๆว่า
เหมาะสมที่จะปลูกพืชผลอะไร ปัจจุบันน่าเป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญ
หรือผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมการเกษตร
๒. แหงนหน้าฉัน คือ การเลี้ยงชีพด้วยวิชาดูดาวนักษัตร หมายถึง การดูฤกษ์ดูยาม
เป็นโหราจารย์ หรือหมอดูนั่นเอง
๓. มองดูทิศใหญ่ฉัน คือ การเลียงชีพด้วยการรับส่งข่าวสาส์น สมัยพุทธกาลหมายถึง ทูต
แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นอาชีพ พนักงานส่งเอกสาร(เมสเซ็นเจอร์) หรือบุรุษไปรษณีย์
๔. มองดูทิศน้อยฉัน คือ การส่ายหน้าหากิน การเลี้ยงชีพด้วยวิชาทายองค์อวัยวะ หมายถึง ซินแสดูโหวงเฮ้ง หรือหมอดูที่ทำนายเรื่องต่างๆโดยการดูรูปร่างหน้าตาไฝฝ่าขี้แมลงวัน
เมื่อพิจารณาตามพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นว่าพระสารีบุตร มีรูปงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของสาวๆในสมัยนั้น จนต้องหาอุบายเข้าไปใกล้ชิด นางสูจิมุขีเป็นนักบวชหญิงที่ฉลาดมาก พระสารีบุตรกำลังฉันอาหารอยู่ ก็หาเรื่องมาคุยได้ และพระสารีบุตรก็แสดงปัญญาที่เลิศล้ำ สมกับเป็นอัครเบื้องขวา โต้ตอบนางสูจิมุขีได้อย่างชาญฉลาด จนนางยอมรับและกล่าวสรรเสริญในสมณศากยบุตรทั้งหลาย
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระสารีบุตรกล่าวถึง วิชาชีพสี่อย่างที่เป็นมิจฉาชีพ มิจฉาชีพนี้น่าจะหมายเอาเพศบรรพชิตเป็นหลัก กล่าว คือ วิชาตรวจพื้นที่ วิชาดูดาวนักษัตร การรับส่งข่าวสาส์น และวิชาทายองค์อวัยวะ บรรพชิตทั้งหลายไม่พึ่งทำ
แต่ในปัจจุบันมีพระที่ใช้วิชาหมอดูอยู่ และก็เห็นกันดาษดื่น ผมไม่ทราบว่า ในวินัย ๒๒๗ ข้อได้ระบุห้ามหรือไม่อย่างไร เพื่อนๆช่วยแสดงความเห็นด้วยครับ