ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เล่าผ่านภาพจิตรกรรม ‘ช้างมงคล’ ในเอกสารโบราณ  (อ่าน 726 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29033
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เล่าผ่านภาพจิตรกรรม ‘ช้างมงคล’ ในเอกสารโบราณ

นอกจากอิริยาบถสง่างาม เฉลียวฉลาด แข็งแรง อดทน รูปร่างใหญ่โต มีพละกำลังมากมหาศาล “ช้าง” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาแต่ครั้งโบราณกาลยังเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลในการต่อสู้ขณะทำสงคราม มีส่วนช่วยปกป้องบ้านเมืองให้พ้นภัย...

ช้างยังมีความสำคัญอีกหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม “ช้างมงคล” นิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างจากเอกสารโบราณ โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเล่าเรื่องช้าง พาเรียนรู้เรื่องน่ารู้จากช้าง โดยนอกจากนำเนื้อหาคำศัพท์สมัยโบราณที่ใช้เรียกอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของช้าง สารคดีเรื่องช้างไทย และทำเนียบนามช้างหลวงประจำรัชกาลในราชวงศ์จักรี จัดแสดงเอกสารโบราณที่บันทึกทำเนียบนามช้างสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์

ยังเล่าถึง การกำเนิด ช้างมงคล ตามตำราคชศาสตร์ ที่ปรากฏในเอกสารโบราณ ช้างศุภลักษณ์ หรือช้างที่มีลักษณะมงคล โดยมี ภาพประกอบจากเอกสารโบราณ ภาพต้นฉบับจากหนังสือสมุดไทยจัดแสดง ฯลฯ




ศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ให้ความรู้ว่า ช้าง มีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกับคนไทยมาช้านาน นับแต่ก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งก็มีภาพเขียนสี หรือจารึกสมัยสุโขทัยก็ได้กล่าวถึงการชนช้าง ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็น

ในเรื่องราวของช้างยังมีความสำคัญ บันทึกไว้ใน หนังสือสมุดไทย โดยหนังสือสมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องช้าง ที่ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติรักษา ดูแลก็มีจำนวนไม่น้อย มีกว่าร้อยรายการในหมวดตำราหมู่สัตวศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องช้าง โดยมีทั้งในเรื่องของลักษณะ พิธีกรรม บางเล่มมีภาพวาดช้างประกอบ ขณะที่บางเล่มไม่มีภาพ ฯลฯ

“ช้างมงคลจัดแสดง ณ ห้องวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ จากที่กล่าวนำความรู้ตำราช้างในเอกสารโบราณจัดแสดง โดยรวบรวม สืบค้นข้อมูล นำภาพวาดจากหนังสือสมุดไทยเล่มต่าง ๆ ที่อธิบายลักษณะช้างนำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น จัดแสดงตระกูลช้างมงคล โดยมีตระกูลใดบ้างและมีลักษณะอย่างไร โดย ภาพประกอบช้างเป็นภาพเก่าต้นฉบับในหนังสือสมุดไทยจากเล่มต่าง ๆ แต่ละเล่มมีอายุนับร้อยปี สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์”



ช้างมงคล ในเนื้อหาจะเล่าเรื่อง นับแต่ การกำเนิดของช้าง ทั้งนี้ ตำราคชศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 คัมภีร์ ได้แก่ ตำราคชลักษณ์ บอกถึงการกำเนิดของช้าง ลักษณะช้างแต่ละตระกูล ที่มา ลักษณะเป็นอย่างไร โดยช้างแบ่งออกเป็น 4 ตระกูล ได้แก่ ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ และช้างตระกูลอัคนิพงศ์

ส่วนอีกหนึ่งที่มีความต่อเนื่องกัน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ คุณศิวพร เล่าเพิ่มว่าคือ คัมภีร์คชกรรม ทั้งนี้ เมื่อรู้ลักษณะช้าง โดยแต่ละตระกูล ช้างจะมีอุปนิสัยลักษณะที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ มีความฉลาดเรียนรู้เร็ว จดจำเก่ง ช้างตระกูลพรหมพงศ์ ชอบให้พูดปลอบ พูดดี ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้รู้จักช้าง เมื่อนำไปฝึกก็จะฝึกได้อย่างถูกต้อง ตรงกับลักษณะนิสัยของช้าง



“คนโบราณมีความเชื่อว่า ช้างแต่ละตระกูลมีเทวดาปกปักรักษาอยู่ ก่อนการฝึกจะมีพิธีบวงสรวงให้ฝึกง่าย อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ในรายละเอียดเหล่านี้ในคัมภีร์คชกรรมจะบอกเล่าไว้ ทั้งสองคัมภีร์จึงมีความสำคัญ มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยตำราคชศาสตร์เรารับอิทธิพลมาจากอินเดีย”

จากที่กล่าวหนังสือสมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับช้างมีจำนวนมากที่เก็บรักษาไว้ที่นี่ ที่ผ่านมากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติเราศึกษารวบรวมจัดทำเป็น หนังสือตำราช้างในเอกสารโบราณ เป็นทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊ก เผยแพร่ให้กับผู้ที่มีความสนใจได้ค้นคว้า เรียนรู้ ได้ร่วมกันสืบรักษาเอกสารโบราณ สืบทอดความรู้ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวช้าง

ส่วนภาพช้างที่แสดง คุณศิวพร เล่าเพิ่มอีกว่า จากที่กล่าวเป็นภาพที่นำมาจากหนังสือสมุดไทย โดยรวบรวมคัดเลือกมาให้ครบเพื่อบอกเล่าให้เห็นถึงช้างแต่ละตระกูล ภาพแต่ละภาพจะเห็นว่ายังคงมีความสมบูรณ์ สดใส และมีความหลากหลาย ทั้งมีสีสันสวยงาม



“สีสันเหล่านี้เป็นสีจากธรรมชาติ คนโบราณมีกรรมวิธีสร้างสรรค์และใช้สี นำสีมาผสมกับวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อรักษาสภาพและสร้างสีสันเพิ่มความหลากหลาย อีกทั้งภาพวาดยังบอกเล่าให้ความเข้าใจกับความเป็นช้างมงคล ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เพียงช้างเผือก แต่มีในสีสันอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นช้างมงคล”

นอกจากสีที่แสดงออก การใช้ภาษาเปรียบเทียบ อย่างเช่น สีดำดั่งเมฆครึ้มฝน, สีขาวเหมือนดอกโกมุท, สีเขียวภูเขา, สีขี้เถ้า, สีไม้ฟืน ฯลฯ ส่วนหนึ่งนี้ยังเปรียบให้เห็นภาพตามธรรมชาติ บอกเล่าการนำสิ่งที่มีอยู่รอบตัวนำมาใช้ในบริบทสังคม วิถีชีวิตในยุคสมัยนั้น ไม่เพียงเฉพาะบอกเล่าลักษณะช้าง



“ภาพช้างที่วาดบันทึกไว้ที่นำมาจัดแสดงยังทำให้เห็นถึงลักษณะสี การอธิบายเรื่องสีในช้าง เห็นการใช้ภาษา รวมถึงเห็นถึงการใช้สีในงานจิตรกรรมในอดีต ภาพวาดยังทำให้เห็นภาพลักษณะของช้างในตระกูลต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นอย่างเช่น ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ โดยหนึ่งในช้างที่กล่าวถึงคือ อ้อมจักรวาล มีลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ที่มีงาซ้ายตรงยาวเสมอหน้างวง งาขวายาวกว่างาซ้าย และปลายงาอ้อมผ่านงวงมาทับอยู่บนงาซ้ายเล็กน้อย เป็นช้างที่มีความกล้าหาญ

เอกทันต์ ลักษณะพิเศษอยู่ที่มีงาเดียว งอกออกจากเพดานใต้งวง เมื่อยกงวงไปเบื้องซ้าย งาจะอยู่ทางขวา ถ้ายกงวงไปเบื้องขวา งาจะอยู่ทางซ้าย เป็นช้างที่มีกำลังมาก หรือ กาฬวกะหัตถี หรือ กาฬทันต์หัตถี บางตำราเรียกว่า กาลหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายมีสีดำ คือ ตัวดำ ขนดำ ตาดำ งาดำ และเล็บดำ เป็นช้างที่ห้าวหาญปราบศัตรูให้ราบคาบมีชัยชนะทุกเมื่อ ฯลฯ โดยภาพวาดไว้อย่างชัดเจน



“ชื่อช้างก็มีความน่าสนใจ จะเห็นว่าชื่อบอกเล่าถึงลักษณะพิเศษ ลักษณะเฉพาะของช้าง บ่งบอกไปพร้อมกับภาพวาด อย่างเช่น ช้างสีหชงค์ หรือ สิงหชงฆ์ ลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ที่ขาคู่หน้าสูงกว่าขาคู่หลัง แข้งกลม เรียวแข็งประดุจสิงหราช หรือ จุมปราสาท มีลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ที่ปลายงา ทั้งซ้ายและขวามีสีแดง และมีรัศมีประดุจแสงแก้ว เป็นช้างที่มีฤทธิ์เดชและอำนาจยิ่ง เป็นต้น”

ขณะที่ช้างในตระกูล พรหมพงศ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในคัมภีร์คชลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อพระพรหมได้รับกลีบดอกบัวและเกสรจากพระอิศวรแล้ว ได้โยนกลีบดอกบัวทั้ง 8 ลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง 8 หมู่ อยู่ประจำตามทิศ 8 ทิศเรียกว่า คชอัฐทิศ



ช้างตระกูลพรหมพงศ์ทุกหมู่ล้วนมีลักษณะเฉพาะตระกูล เป็นช้างศุภลักษณ์ ผิวหนังละเอียดอ่อน ขนเส้นเล็กละเอียดอ่อนเรียบ และยาวงอกขึ้นขุมละสองเส้น สีขนมีสีเดียวกับสีตัว ขนหู ขนตา ขนปาก และขนหลังยาวมีกระขาวประดุจดอกกรรณิการ์ทั่วตัว ฯลฯ ขณะยืนส่วนหน้าสูงกว่าส่วนท้าย ทุกส่วนของร่างกายงามพร้อม ดังเช่น ไอราพต เป็นช้างประจำทิศบูรพา สีกายประดุจสีเมฆเมื่อครึ้มฝน

บุณฑริก เป็นช้างประจำทิศอาคเนย์ สีกายขาวบริสุทธิ์ประดุจดอกบัวหลวง หรือสีของเถ้าไม้หลัว (ขี้เถ้าไม้ฟืน) มีกลิ่นตัวหอมประดุจดอกบัวสัตตบงกช งาใหญ่มีสีดั่งสีสังข์ หรือสีวัวเผือก ซึ่งก็จะไม่ใช่สีขาวจ้าทีเดียว แต่จะขาวเหมือนเปลือกหอยสังข์ ฯลฯ กุมุท หรือ กระมุท ช้างประจำทิศหรดี ลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ ที่สีกายประดุจสีดอกกุมุท หรือดอกบัวสายสีขาว งามบริสุทธิ์ รูปร่างสูงใหญ่ หรือ อัญชัน ช้างประจำทิศประจิม มีสีกายเขียวประดุจสีดอกอัญชัน บางตำราว่า สีเขียวประดุจสีภูเขาอันงามบริสุทธิ์ยิ่ง เป็นต้น ซึ่งจะอธิบายเปรียบให้เห็น



ส่วน ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ และช้างตระกูลอัคนิพงศ์ ก็มีความน่าสนใจ มีภาพวาดแสดงประกอบให้เห็นถึงความพิเศษให้ศึกษาเด่นชัดเช่นกัน อย่าง ชมลบ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหน้าจะจดถึงกัน ขณะที่ ลบชม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหลังจะจดถึงกัน

ประทุมทันต์ มีลักษณะพิเศษที่ทุกส่วนของร่างกายสั้นแต่ดูงาม งางอกพ้นจากไพรปากสั้นเพียงสองนิ้ว เมื่อยกงวงขึ้นจึงเห็นงามีรูปดังจาวมะพร้าว กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมเอก เป็นต้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “ช้าง”

ช้างจากเอกสารโบราณ และภาพวาดช้างที่มีลักษณะมงคล.

           พงษ์พรรณ บุญเลิศ





ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/1567175/
12 ตุลาคม 2565 ม 12:00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ